Tuesday, September 8, 2015

แนะนำคุณแม่มือใหม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 100%




ตั้งแต่ท้องเชอรี่ก็ได้หาข้อมูลเรื่องนมแม่ และพี่ๆ ก็ให้นมลูกกันจน 3 ขวบเลย พอรู้ถึงประโยชน์ก็แน่วแน่ว่าจะต้องเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองให้สำเร็จจนได้ และตั้งใจให้คุณหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ ซึ่งเป็นคุณหมอที่สนับสนุนเรื่องนมแม่เป็นคุณหมอคอยช่วยแนะนำ เชอรี่ก็ทำตามที่คุณหมอแนะนำจนมีนมเลี้ยงน้องวชิจนถึงตอนนี้

เลยอยากจะแชร์สิ่งที่เชอรี่เรียนรู้และเคยอ่านเจอ ให้กับคุณแม่มือใหม่นะคะ

นมแม่

  • ควรให้นมแม่อย่างน้อย 6 เดือน 
    • นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดของลูก มีภูมิคุ้มกันโรคสูงมาก ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ลดโอกาสเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ ช่วยให้ลูกเติบโตได้อย่างเต็มที่ทั้งร่างกายและสมอง ฯลฯ ไม่มีนมสูตรไหนที่สามารถลอกเลียนประโยชน์ของนมแม่ได้เลย
    • ช่วยเสริมสร้างความรักความผูกพันระหว่างแม่กับลูก สร้างความเชื่อใจให้กับลูก ให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและอบอุ่น และแม่ก็มีความสุขสุดๆ เลยค่ะ
  • ช่วงหลังคลอดน้ำนมแม่อาจจะยังไม่ไหล ให้ลูกดูดกระตุ้นไปเรื่อยๆ ในตัวลูกยังมีสารอาหารเหลืออยู่ แม้ไม่มีนมให้ก็ยังอยู่ได้เป็นอาทิตย์ ห้ามเสริมนมผงก่อน
  • อย่างเชอรี่คุณหมอให้กินยา Motilium-M ตั้งแต่คลอดเพื่อช่วยกระตุ้นน้ำนม กินวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า กลางวัน เย็น แล้วนมก็มา เย้ๆๆๆ
  • ช่วงแรกคุณแม่ควรงดอาหารกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ นมวัว ไข่ แป้งสาลี อาหารทะเล และถั่ว เพราะลูกอาจแพ้ได้
  • ข้อสังเกตว่าลูกได้นมแม่เพียงพอหรือไม่ ให้นับอึ 2 ครั้ง ฉี่ 6 ครั้ง
  • หลังให้นมลูกเสร็จต้องจับเรอทุกครั้ง
  • หน้าอกเล็กหรือใหญ่ไม่เกี่ยวกับปริมาณน้ำนมที่จะผลิตได้ 
  • ช่วงแรกที่ให้นมลูกจะเจ็บหัวนมมาก ให้ใช้นิ้วบีบน้ำนมออกมาทารอบๆ หัวนม จะช่วยป้องกันหัวนมแตกได้ หรือทาครีมกันหัวนมแตกก็ได้ บางโรงพยาบาลมีให้ ยังไม่ต้องซื้อล่วงหน้าค่ะ
  • ถ้าหัวนมแตกแล้วปั๊มนมออกมาเป็นสีชมพู คือมีเลือดปน สามารถให้ลูกกินได้ค่ะ

ฝึกลูกกินนมจากขวด

ที่ต้องฝึกลูกกินจากขวดเพราะคุณแม่อาจต้องกลับไปทำงานหรือมีธุระ จะได้ให้คนอื่นช่วยเลี้ยงได้ค่ะ
  • อายุครบ 1 เดือน ให้ฝึกลูกดูดนมจากขวดวันละ 1-2 ครั้ง โดยใช้จุกไซส์ S วางขวดในแนวราบ เพราะถ้านมไหลเร็วไปจะทำให้ลูกติดขวดแล้วไม่เอาเต้า
  • ช่วงฝึกดูดจากขวดให้คุณแม่หลบไปก่อน เพราะถ้าลูกเห็นแม่จะไม่ยอมกินจากขวด
  • ถ้าให้ลูกเจอขวดเร็วไป ลูกไม่เอาเต้าแม่นะคะ
คุณพ่อช่วยให้นมช่วงดึกเพื่อให้คุณแม่ได้ปั๊มนม

  • จับลูกเรอทุกๆ 1  ออนซ์
  • น้ำนมช่วงแรกอาจจะยังไม่เยอะเพราะคุณแม่เอาเข้าเต้ายังไม่ถนัดนัก และคุณลูกยังดูดไม่เก่ง หลังจากปรับกันได้แล้ว น้ำนมจะเยอะขึ้นค่ะ
  • การเข้าเต้าที่ถูกต้อง ให้สังเกตว่าปากลูกต้องงับถึงลานนม เวลาดูดคางจะขยับ และกลืนน้ำนม
  • จุกนมที่เชอรี่ฝึกน้องวชิดูดครั้งแรกแล้วยอมดูดเลย คือ จุกของ Pigeon รุ่น Perisaltic Nipple ส่วนรุ่นอื่นดูดแล้วคายออก ดูดๆ หยุดๆ คงเพราะรุ่นนี้น่าจะนุ่มและเข้ากับรูปปากพอดีค่ะ

นมสต็อค

  • นมที่ปั๊มไว้จากขวดที่ 1, 2 ให้เทรวมใส่ขวดที่ 3 แล้วปั๊มเพิ่ม ครบ 1 วันแล้วเก็บเข้าช่องแช่แข็งระหว่างวันที่ยังต้องใช้อุปกรณ์ปั๊ม ให้ใส่ถุงซิปหรือรัดยางไว้แล้วเชื่อตู้เย็น จะช่วยให้นมที่เกาะอยู่ข้างขวดไม่บูด ครบ 24 ชั่วโมงค่อยล้างทีเดียว
  • นมสต็อคอาจจะมีกลิ่นหืน ลูกสามารถกินได้ ไม่แน่ใจให้ชิมก่อน ถ้าเปรี้ยวต้องทิ้ง
  • การนำนมสต็อคมาใช้ ให้เอาลงมาไว้ช่องธรรมดาก่อน ถ้าลูกกินแบบเย็นได้ให้กินแบบเย็นได้เลย ไม่มีผลทำให้ท้องอืดหรือท้องเสีย ถ้าไม่อุ่นจะคงสารอาหารไว้ได้ดีกว่า แต่ถ้าจะอุ่นให้แช่ในน้ำอุ่น สารอาหารจะหายไปน้อยกว่าอุ่นด้วยน้ำร้อน และห้ามอุ่นด้วยไมโครเวฟ 
  • เด็กบางคนไม่ยอมกินนมสต็อค ถ้าไม่ยอมให้ลองผสมนมที่ปั๊มใหม่กับนมสต็อค แล้วค่อยๆ เพิ่มอัตรานมสต็อคในครั้งต่อๆ ไป 


ปั๊มช่วงกลางวันได้เท่านี้ ลองปั๊มช่วงกลางคืนนะคะ ได้เยอะกว่าเดิมแน่นอน

  • อายุนมสต็อค
    • ตั้งทิ้งไว้ 25 องศา                         4-6 ชั่วโมง 
    • ตั้งทิ้งไว้ 19-22 องศา                     10 ชั่วโมง 
    • กระติกใส่น้ำแข็ง 15 องศา             24 ชั่วโมง 
    • ตู้เย็นช่องธรรมดา 0-4 องศา          8 วัน 
    • ช่องแช่แข็งตู้เย็นประตูเดียว           2 สัปดาห์ 
    • ช่องแช่แข็งตู้เย็น 2 ประตู               3-6 เดือน 
    • ตู้แช่แข็งชนิดเย็นจัด -19 องศา      นานกว่า 6 เดือน
  • ถึงเป็นคุณแม่เต็มเวลาก็ควรทำสต็อคไว้บ้าง เพราะช่วงที่นอนน้อย หรือไม่สบาย จะทำให้น้ำนมไม่พอให้ลูกกิน

วิธีเพิ่มน้ำนม

  • ดื่มน้ำเปล่าหรือรวมทุกน้ำที่ดื่ม จะน้ำซุป น้ำผลไม่ก็ได้ค่ะ รวมกันอย่างน้อยวันละ 3 ลิตร เพื่อให้มีน้ำมาผลิตน้ำนม
  • อาหารกระตุ้นน้ำนม เช่น ขิง หัวปลี ใบกะเพรา กุยช่าย ใบแมงลัก มะรุม ตำลึง พริกไทย ฟักทอง มะละกอ ผักชีลาว ผักเป็ดแดง ฯลฯ
หัวปลีต้ม เมนูเพิ่มน้ำนม ไม่อร่อยแต่ก็กินเพื่อลูก

  • ให้ลูกดูดกระตุ้นน้ำนมบ่อยๆ น้ำนมยิ่งผลิต ถ้าเสริมนมผง จะยิ่งทำให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้น้อยลง
  • เวลาตี 1-4 เป็นช่วงกอบโกย ถ้าปั๊มช่วงนี้จะได้น้ำนมเยอะมากกว่าช่วงอื่นๆ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ถ้าอดนอนนมจะผลิตได้น้อย ถ้าเครียดก็เช่นกัน ต้องทำจิตใจให้สบาย เลี้ยงลูกอย่างมีความสุข


ตอนนี้น้องวชิอายุ 4 เดือนแล้ว เชอรี่เลี้ยงน้องวชิด้วยนมแม่ 100% ไม่เคยต้องชงนมให้ เลยอยากจะแชร์และให้กำลังใจเรื่องน้ำนมให้กับว่าที่คุณแม่และคุณแม่ทุกๆ คนนะคะ




Comment

Ads